ทำดี ดี!ตอนที่ทำนั่นแหละ ดีแล้ว

ทำดี ดี! ทำชั่ว ชั่ว!
ผู้ใดก็ตามที่เกิดสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นจะไม่ทำผิดอีก เพราะเขารู้จริง ๆ เเล้วว่าสิ่งที่กระทำเป็นยังไงเเล้วคืออะไร เเล้วอะไรคือที่มาของสัมมาทิฏฐิ
คอร์สมัคคานุคาทั้งหมดถึงได้ปูพื้นฐาน ที่คำว่าพื้นฐานไม่ใช่สำหรับคนเบื้องต้นนะ มันเป็นพื้นฐานหรือฐานราก คนมักจะรู้สึกว่า คอร์สพื้นฐาน “โถ่! ฉันปฏิบัติมา 5 ปี 10 ปีแล้ว ทำไม่ต้องมาเข้าคอร์สพื้นฐาน” จนเดี๋ยวนี้ทุกคนที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติมักจะบอกคนอื่นว่าจะกี่สิบปีก็ตาม ยังไงก็ต้องเข้าอันนี้ก่อน ไม่งั้นไปตรงไหนก็ฟังไม่รู้เรื่อง บางคนปฏิบัติมานาน ๆ ก็เลยขอเข้าคอร์สเข้มเลยก็ฟังไม่รู้เรื่อง ถึงรู้เรื่องก็รู้เรื่องผิดทาง
เพราะคำว่าพื้นฐานมันคือฐานรากที่ตอกเสาเข็มแล้วแพ็คไว้อย่างแน่นเพื่อจะสร้างสิ่งนี้ให้ถูกต้องต่อไป
ดังนั้นสัมมาทิฏฐิมาจากอะไร
๑. ต้องรู้ว่าอะไรคือกุศลอะไรคืออกุศลก่อน ถ้ากุศล-อกุศลยังไม่รู้เลย เเล้วมันจะทำยังไงกันต่อไป
๒. รู้ว่าทำกุศลผลเป็นกุศล ทำอกุศลผลเป็นอกุศล ทำบาปทำชั่วผลก็ต้องเป็นบาปเป็นชั่วเป็นคนเลว
เพราะฉะนั้นคำที่ท่านพุทธทาสพูดให้ฟังก็คือว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไม่มีหรอก นั้นพาผิดทางเเล้ว
งง!
เเปลว่าอะไร ก็พูดอย่างนี้กันมาตลอด ท่านเลยบอกว่าก็เพราะความเข้าใจอย่างนี้เเหละที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่วันนี้ถึงได้สับสนกันอุตลุด ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จนเป็นที่มาของคำว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าทำไมคนชั่วโกงบ้านกินเมืองหรือว่าคนชั่วที่เห็น ๆ กันอยู่ ทำไมกลับได้ดี นี้ไงมันเลยดิ้นไปผิดทางเลย เพราะความเข้าใจที่ผิดนี้แหละ
ท่านจึงบอกเลยว่า ทำดี ดี! ทำชั่ว ชั่ว!
ทำชั่ว ชั่ววินาทีที่ทำเลยไม่ต้องไปรอได้ชั่วชาติไหนทั้งนั้น คนทำชั่วมันชั่ววินาทีที่ทำ ไม่มีต้องรอได้ชั่ว มันชั่วเลย
ถ้าคนทำดีก็ไม่ต้องรอได้ดีชาติไหนเหมือนกัน ดีวินาทีที่กำลังทำนั้นแหละ ส่วนผลมันจะเป็นยังไงต่อไปวิบากกรรมจะเป็นยังต่อไปนั้นเป็นคนละเรื่อง
ถ้าไปนั่งรอดูวิบากของคนที่ทำบาปทำชั่วมันถึงได้เกิดคำว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
เพราะฉะนั้นวันนี้พอเราเข้าใจ เราก็จะได้เข้าใจเรื่องของกุศล อกุศล
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากคอร์ปปฏิบัติธรรม “หมดเปลือก”
สามารถดูคลิปวีดีโอคอร์สนี้ได้ที่นี่
https://youtu.be/HwqZyMNzIFs?list=PLh9Sm2EK19nRzsYnsXGGGbkbPTsoCPSvd

ทำไมเราต้องศึกษาธรรมะ ทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม

ทำไมเราต้องศึกษาธรรมะ ทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม
ทำไมเราต้องเข้ามาปฏิบัติธรรมด้วย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นคนดีอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้ไปคดโกงใคร ไม่ได้ไปทำบาปทำชั่วกับใคร เราก็ดูแลพ่อแม่อย่างดี จะมาปฏิบัติธรรมทำไม เเล้วเราก็ไม่ได้มีความทุกข์ขนาดนั้น ขนาดที่อกหักล้มละลายอะไรที่จะต้องมาปฏิบัติธรรม
นี่เป็นคำถามที่เบสิกนะ ผมก็ได้ยินเรื่องเเบบนี้มาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง
วันนี้ที่เราบอกว่าเราไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ร้อนอะไร เราลองนึกดูดี ๆ นะครับว่า ที่เราบอกว่าเรามีความเกิด เเก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา เเต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า เกิด เเก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์
รู้สึกว่าเริ่มขัดกันนะสองคำนี้ คนเจ็ดพันล้านคนบอกว่าเป็นธรรมดา แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่าเป็นทุกข์ “เกิด” นี่ยังไม่ทันรู้ ข้ามไปก่อน เอาเเก่ก่อน
“เเก่” ทุกข์ไหม ผมว่าทุกข์นะ จากคนที่อย่างพวกเราสมมุติว่ามีอายุยังไม่มาก ยิ่งถ้ายังเป็นวัยรุ่นเป็นเด็กยังไม่รู้สึกเลย เเต่พอต้องเดินช้า ๆ เดี๋ยวหกล้มหลังโก่ง เอ๊ะ! นี่สภาพทุกข์เริ่มเกิดเเล้วนะ
“เจ็บ” เจ็บนี่ไม่ใช่เเค่หกล้มนะ ผมนี่ไปเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาลที่เป็นมะเร็งบ่อย บ่อยมาก หรือเเม้เเต่คนที่กำลังจะตายแล้ว อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าจะตาย ผมรู้เลยว่าเขาทุกข์มาก ทุกคนเข้าไปยึดติดเสพติดกายนี้ทั้งนั้น
ดังนั้นที่บอกว่ามันเป็นธรรมดานี่ ผมไม่เคยเห็นใครเป็นธรรมดาเลย เเล้วขอโทษสภาพนี้เกิดกับทุกคน ไม่ใช่เกิดขึ้นกับบางคน วันนี้ไม่เกิดไม่ได้เเปลว่าวันหน้าไม่เกิด หรือวันนี้เกิดเเล้ว ไม่รู้นะวันหน้าไอ้ที่เกิดอยู่นี่อาจจะพาตายเลย
เพราะฉะนั้นวันนี้สภาพที่เราบอกว่าเจ็บเป็นธรรมดา ผมว่าไม่ธรรมดา
ผมเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสถูก
“ตาย” เเทบจะไม่ต้องพูดเลย บางคนบอกว่าอย่ามาพูดเรื่องนี้กับฉันเรื่องอัปมงคล… ไปโน่นเลย
ผมว่าไม่ธรรมดาผมเห็นเเต่ละคนที่กำลังจะตายไม่ธรรมดาเลยสักคน
สมมุติว่าท่านเป็นผู้ที่มีชีวิตกินดีมีสุข มีเงินมีทองใช้สะดวกสบาย ผมก็เชื่อว่าคนในยุคปัจจุบันก็อยู่ในขั้นนั้นเป็นจำนวนมากเลยที่ผมเห็น เเต่เมื่อถึงจุดนี้จริง ๆ ที่ความตายมายืนอยู่ตรงหน้า รู้ไหมว่ายิ่งมีกินมีสุข ยิ่งเข้าไปเสพสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเท่าไหร่ ความยึดติดจะเหนียวเเน่นขึ้นเรื่อย ๆ วันที่ท่านจะต้องพรากจากสิ่งที่ท่านติดเอาไว้ วันนั้นจะทุกข์ไม่มีอะไรเหมือนเลย
ผมให้เด็กวาดภาพสิ่งที่เขาอยากจะวาดให้สวยที่สุด มีสีน้ำสีทุกอย่าง เด็กวาดภาพอย่างวิจิตรในครึ่งชั่งโมง หลังจากที่เราเอาภาพมาโชว์กันเเล้ว เด็กก็โชว์ด้วยความชื่นชม ชื่นใจในภาพของตัวเอง ผมเชิญเด็กที่ได้ที่หนึ่งออกมา ถามว่าสวยไหม หนูก็ทำได้สุดยอดสวยมากเพื่อน ๆ ตบมือให้ ผมฉีกภาพนั้นกลางหน้าเวทีเลย เด็กเนี่ยหัวใจสลายเลยเเทบจะร้องไห้ตรงนั้นเลย ผมถามว่าทุกข์ไหม เขาบอกว่าทุกข์ หนูเสียดายมากเลย ทำไมอาจารย์ทำเเบบนี้ ผมบอกว่าเธอรู้ไหมว่าถ้าเธอเป็นอะไรไป เเม่ของเธอใจจะขาด
ผมถามว่าเขาสร้างภาพนี้มานานเเค่ไหน เขาบอกว่าครึ่งชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงเธอรู้สึกขนาดนี้เลยหรอ เเล้ว 16 ปีที่พ่อแม่ค่อย ๆสร้างเธอขึ้นมา ถ้าเธอทำอะไรหรือเป็นอะไรไป รู้รึยังว่าเเม่เธอจะรู้สึกยังไง
เด็กเงียบเลย
เเต่ผู้ใหญ่ ท่านสร้างสิ่งนี้(ตัวท่านเอง)ขึ้นมาด้วยตัวเอง จะ 40 50 60 ปี คิดหรอว่าวันที่จะฉีกมันให้สลายออกท่านจะทิ้งมันได้ ไม่มีทาง ทุกข์มหันต์จะเกิดขึ้นในวันนั้นเลย
เเล้วขอโทษ นั่นท่านไปยึดมันเองมันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เมื่อถึงเวลามันจะเเตกสลาย มันจะเเตกสลายไปตามเหตุปัจจัยของมันไม่สนว่าท่านรู้สึกยังไง มันจะตายไม่ขึ้นกับอยากหรือไม่อยากของใคร ต่อให้ท่านไปทำอะไรก็ตาม
ก็เหมือนกับท่านนั่งอยู่กลางเเสงเเดดที่มีเงาเมฆมา ถ้าเมฆมาบังท่านก็ดีใจ โอ้ย…ฉันอยากให้เมฆอยู่นาน ๆ เเล้วเมฆก็ผ่านไป ไม่เกี่ยวอะไรกับอยากของท่าน กายนี้ก็เช่นกัน ท่านหลงคิดเอาเอง ท่านกำลังหลงเข้าไปในคิด ท่านพยายามไปทำโน่นทำนี่เพื่อจะไปต่ออายุมัน เเต่อายุของมันมีจำกัด เเม้จะต้องกินยาบำรุงเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายตายเหมือนเดิม ยิ่งทำอะไรมากจนเกิน ยิ่งเข้าไปรักผูกพันมันมากขึ้นเท่านั้น
เเล้วทีนี้ตกลง เกิด เเก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาจริงหรือ ชักจะไม่ธรรมดาเเล้ว
สิ่งที่ท่านได้ยินทั้งหมดในโลกนี้มันไม่มีใครบอก ผมก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน จนกระทั่งผมเข้าสู่การปฏิบัติธรรม ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผมถึงรู้ว่าโลกนี้มีเรื่องเข้าใจผิดอีกเยอะมาก
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

บทสัมภาษณ์ในรายการ “สุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู”
ทางช่อง AMARIN TV (1 พฤษภาคม 2558)
https://youtu.be/Spc_NLjhUF4?list=PLDzf9cyBwgxCNwRsjZgHTiJdfW0iznaQ5

สัมมาทิฏฐิจริงๆ คือการรู้เเจ้งอริยสัจ

สัมมาทิฏฐิจริงๆ คือการรู้เเจ้งอริยสัจ
สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้หรือความเห็นอันถูกต้องหรือทิฏฐิอันถูกต้อง ทิฏฐิอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถูกต้อง ความรู้อันใดคือความรู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับเเห่งทุกข์ ในทางดำเนินให้ถึงความดับเเห่งทุกข์ ๔ ข้อนี่คืออะไรครับ อริยสัจ ๔ เเสดงว่าผู้เกิดสัมมาทิฏฐิคือผู้ที่เข้าถึงอริยสัจหรือรู้เเจ้งอริยสัจขึ้นมาเราจึงเรียกผู้นั้นเกิดสัมมาทิฏฐิ
พูดอย่างนี้เรารู้สึกว่าเรารู้ทุกข์ไหมครับ เราว่าเรารู้ทุกข์นะ เเต่เเน่ใจหรือป่าว ว่าเรารู้ทุกข์หรือเราเป็นทุกข์ ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ คำว่ารู้ทุกข์หรือคำว่าทุกข์เนี่ยมีหลายระดับเหลือเกินตามความเข้าใจของผู้ที่เข้าถึงอริยสัจ ในคนทั่วไปทุกข์เป็นเพียงความรู้สึกเป็นทุกข์ เเต่ถ้าผู้ที่เข้าถึงอริยสัจจะรู้เลยว่าทุกข์คือ อุปาทานขันธ์ ๕
เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้จักตัวขันธ์ ๕ ซึ่งมันเป็นทุกข์โดยสภาพ เราก็จะรู้สึกว่าความทุกข์ที่พูดถึงที่พระพุทธเจ้าพูดถึงคือความรู้สึกเป็นทุกข์ ถ้าเกิดความสุขก็เป็นความสุข ถ้าเกิดความทุกข์ก็เป็นความทุกข์ เราไม่ได้เห็นทุกข์หรอกเราเป็นทุกข์ มันเป็นเเค่ความรู้สึกของคนคนนั้นเอง ซึ่งเป็นผลซึ่งเป็นเวทนาเฉยๆ เป็นอาการ
ดังนั้นความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ สมมติว่าท่านกำลังเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเห็นเสื้อผ้าสวยๆ ในกระบะ SALE! เกิดความอยากได้ ท่านมีความรู้สึกเลยว่าถ้าได้เสื้อตัวนั้นฉันจะมีความสุข ถ้าไม่ได้ฉันจะมีความทุกข์ เเต่ถ้าผู้ถึงอริยสัจ ทั้นทีที่เกิดความอยากเมื่อภาพนั้นกระทบตาเกิดความอยาก ทุกข์เกิดเเล้ว ทุกข์คือตัณหาบีบคั้นเกิดเเล้ว ไม่ใช่รอให้ไม่ได้ถึงจะทุกข์ เเต่ทั้นทีที่อยากทุกข์เเล้ว
งั้นเเปลว่าผู้ถึงอริยสัจคงไม่ต้องซื้อของมั้งเพราะมันมีตัณหา อย่างนี้เเปลว่าไม่ต้องซื้อของ? เปล่า! ถ้าใช้ซื้อ ถ้าใช้ต่อให้มีตัณหาก็ยังซื้อเพราะของต้องใช้ เเต่มีเงื่อนไขต้องมีเงิน ถ้าไม่มีเงินจะไปซื้อทำไม เเต่วันนี้พอไม่มีเงินก็ไปบีบคั้นให้ตัวเองซื้อจึงเกิดการเป็นหนี้เป็นสินมากมายโดนกระชากไปตามอำนาจของตัณหา
เพราะเราไม่ได้รู้อริยสัจจริงๆ หรอก เราเป็นทุกข์เราไม่ได้รู้ทุกข์ ทีนี้ถ้ายังไม่รู้ทุกข์ จะไปเห็นเหตุให้เกิดทุกข์คงเป็นไปได้ละ ได้เเต่ฟังๆ เอา เรื่องนิโรธกับมรรคไม่ต้องพูดเพราะว่าในเบื้องต้น ถ้าไม่เห็นทุกข์ไม่รู้ทุกข์ นิโรธกับมรรคคงยังไม่เกิดเเน่ มีเเต่สายเกิดทุกข์ไม่มีสายดับทุกข์
ดังนั้นสัมมาทิฏฐิจริงๆ คือการรู้เเจ้งอริยสัจ
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ธรรมบรรยายในหลักสูตร มัคคานุคา ก-ฮ
สามารถดาวโหลดคลิปเสียงคอร์สนี้ฟังได้ที่นี่
https://makkanuka.wordpress.com/2015/02/17/makkanuka-a-z/

ต้องมี “สัมมาทิฏฐิ” จึงจะรู้ว่าสิ่งที่ทำถูกหรือผิด

ต้องมี สัมมาทิฏฐิ จึงจะรู้ว่าสิ่งที่ทำถูกหรือผิด
เรื่องของความเชื่อ ผมพยามที่จะอธิบายให้ท่านได้เข้าใจ ถ้าพูดเฉยๆ มันนึกไม่ออก “..แล้วมันเป็นยังไงหรอความเชื่อมันผิดยังไงอย่างที่เราเชื่อ..”
มันไม่ได้ผิดอะไรยังไงหรอกครับ แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้ตรงกับความจริง เพราะเราก็เชื่อ ทำไมเราถึงเชื่อ เพราะเราอาศัยเหตุผลในใจ แล้วอะไรเป็นที่มาของเหตุผลในใจ ก็จากประสบการณ์ของพวกเราทุกคน แล้วก็นำมาซึ่งเหตุผลในใจ แล้วก็จะมีเสียงบอกเสียงกล่าวอยู่ข้างใน ซึ่งมันอาจจะจริงหรือไม่จริงในการดำเนินชีวิต
ผมยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้เข้าใจง่าย แล้วผมก็มักจะนำไปยกตัวอย่างในที่ต่างๆ มันเกิดกับเด็กนักศึกษาคนหนึ่ง หลังจากเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเขาก็ออกมาเล่าให้ฟังในวันสุดท้าย ตอนที่เขาออกมาเล่าเขาอยู่ปี 4 เขาบอกว่าตอนที่เขาอยู่ประมาณปี 1 เป็นนักศึกษาปี 1
เย็นวันหนึ่งน้องชายเขากลับมาจากโรงเรียน แล้วก็วิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาในบ้าน แล้วก็ตะโกนว่า “พี่! ผมถูกจิ๊กโก๋ไล่ตี” พอเข้าได้ยินอย่างนั้นเห็นน้องชายวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามา เขาก็วิ่งขึ้นไปชั้นบนแล้วก็หยิบปืน ปี 1 เองนะครับ หยิบปืนแล้วก็วิ่งออกไปหน้าบ้าน เห็นจิ๊กโก๋กลุ่มหนึ่งวิ่งไล่น้องชายมา เขาก็ยิงสวนเลย จิ๊กโก๋ก็แตกฮือเลย แตกฮือแล้วก็วิ่งหนี เขาก็ไล่ยิงเลย จากนั้นเขาถูกตำรวจจับ ด้วยความที่อายุไม่ถึง 18 จึงได้รับการปล่อยตัว
เขารู้สึกว่าเขาทำถูก ที่เขาปกป้องน้องชาย ไม่มีอะไรผิดเลย แต่หลังจากที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติแล้ววันสุดท้ายที่เขาออกมาพูดก่อนที่จะกลับบ้านเขาบอกว่า ผมรู้สึกว่าผมถูกมาตลอด จนกระทั่งมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม วันนี้ผมรู้แล้วว่าผมทำผิด แต่ที่ผมสงสัยก็คือ ทำไมคนทุกคนที่ทำผิดเขาถึงรู้สึกว่าเขาทำถูก
คนในโลกนี้ทุกคนที่ทำผิดจะรู้สึกว่าตัวเองทำถูก เพราะมันมีเสียงบอกอยู่ข้างในว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว ทุกคนเลย
แล้วอะไรจะเป็นคนบอกว่าเราทำถูกหรือเราทำผิด
นี่คือถามของเด็กคนนั้น เพราะเราเชื่อเสียงข้างในไม่ได้แล้ว เสียงข้างในที่พูด มันล้วนเข้าข้างตัวเราเองทุกครั้ง เราจึงไม่รู้เลยว่าเราทำถูกหรือเราทำผิดกันแน่ สังเกตไหมครับว่าเสียงข้างในของท่านจะพูดเข้าข้างท่านตลอด แล้วใครจะเตือนท่านล่ะทีนี้ ซึ่งมีคนบอกว่า “สติ” แล้วผมก็เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยก็จะตอบว่าสติกันทั้งนั้น
ขณะที่ท่านทำผิด สติไม่เตือนหรือ? ผมว่าเตือนนะ แต่ท่านไม่ฟังด้วย
แสดงว่าเตือนก็ยังไม่ฟัง แล้วดีไม่ดีเตือนก็เตือนแบบข้างๆ คูๆ เข้าข้างตัวเองไปอย่างนั้น ทุกคนถึงทำผิดกันได้ตลอดเวลา ถ้าใครจะโกงถ้าใครจะคอรัปชั่น ทั้งๆ ที่ทำผิดเอาของคนอื่น มันก็จะบอกว่า
“..เขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ ไม่ทำเดี๋ยวคนอื่นเดือดร้อนกันไปหมด ก็ต้องตามน้ำกันไป..”
นี่ไง นี่ก็สติตัวหนึ่งล่ะ แต่มันไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็ไม่ใช่ของจริงด้วย
“..แล้วถ้าเราไม่เอาที่บ้านเราจะกินอะไรกัน ลูกเราก็ยังต้องเรียนหนังสือ แม่เราก็เจ็บป่วย เอาไปเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากหรอก..”
นี่ไง เสียงข้างใน แล้วมันเคยขวางการกระทำที่ผิดได้บ้างไหมวันนี้ ไม่มีเลย ไม่ใช่เสียงเหล่านี้หรือ หรือเสียงเหล่านี้แทนที่จะเป็นสติ มันดันกลายเป็นผลักเราลงเหวไปเลย
นี่ล่ะคือสิ่งที่เด็กคนนั้นถาม ผมว่าเด็กคนนั้นมีปัญญามาก ผมชอบคำถามคำนี้เพราะผมรู้สึกว่าเด็กคนนั้นมีปัญญามาก ที่เขามองเห็นความจริง เพราะว่าข้อสังเกตที่เขาตั้งขึ้นมานั้นจริงเลย
คำตอบที่ผมตอบเขา ที่เขาถามว่าแล้วอะไรจะเป็นเครื่องเตือน ผมไม่ได้ตอบว่าสติ แต่ผมตอบว่า “สัมมาทิฏฐิ”
ผู้ใดก็ตามที่เกิดสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นจะไม่ทำผิดอีก
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ส่วนหนึ่งจากธรรมบรรยายในคอร์สปฏิบัติธรรม “หมดเปลือก”

ฟังเนื้อหาท่อนนี้ออนไลน์ได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=18AsGKa1_kQ

สามารถดูวีดีโอคอร์สปฏิบัติธรรมนี้ฉบับเต็มได้ในรูปแบบแผ่น DVD ที่นี่
http://suanyindee.lnwshop.com/p/28

(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

หากคนตาบอด ๖ พันล้านคนกับคนตาดีเพียงคนเดียว
มาเถียงกันเรื่องดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
คนตาบอดจะไม่เชื่อว่ามีคนมองเห็น
เพราะความเป็นปกติของคนตาบอดก็คือการมองไม่เห็น
เมื่อมีคนๆหนึ่งมาพูดให้ฟังเรื่องดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
พูดให้ฟังเรื่องสลัมที่คนตาบอดอาศัยอยู่
คนตาบอดจะไม่มีวันยอมฟังเลย หรือต่อให้คนตาบอดตั้งใจฟัง
แต่พวกเขาก็จะหาเหตุผลสารพัดสารพัน
มาใช้คัดง้างกับคำพูดที่คนตาดีเล่าออกมา
(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
ส่วนคนตาดีก็จะพยายามอธิบายให้ฟังอยู่ครู่หนึ่ง
เมื่อพบความจริงว่าคนตาบอดไม่สามารถที่จะปลงใจเชื่อเรื่องนี้ได้
มีวิธีเดียวคือต้องให้คนตาบอดสังเกตและพิสูจน์เอง
เพราะถ้าคนตาบอดพิสูจน์อย่างจริงจัง
คนตาบอดก็ต้องพบความจริงอย่างแน่นอน
เพราะว่านี่คือสัจธรรม
เพราะความจริงมีอยู่ ดวงอาทิตย์มีอยู่ ดวงจันทร์มีอยู่
(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
และที่จริงดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ก็ไม่ได้รอให้ใครมาพิสูจน์ด้วยซ้ำ
ปัญหาจึงอยู่แค่ที่ว่า คนตาบอดจะเข้าถึงความมีอยู่จริงนี้ได้อย่างไรกัน
ซึ่งก็มีอยู่ทางเดียว คือคนตาบอดต้องเอาจริงเอาจัง
ต้องอดทนต่อการพิสูจน์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
แล้วเขาจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างได้เอง
(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
เพราะไม่ว่าจะอย่างไร
ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
ก็ไม่เคยเปลี่ยนไปตามความเชื่อหรือความเข้าใจผิดของใคร
ไม่ว่าคนตาบอดจะพยายามอ้างเหตุผลสารพัดร้อยแปด
มาอธิบายว่าดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์นั้นไม่มีอยู่จริงหรอก
เป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น
แต่ดวงอาทิตย์ก็ยังคงส่องแสงต่อไป ดวงจันทร์ก็ยังขึ้นลงตามปกติ
ไม่เคยเกี่ยวข้องใดๆ กับสารพันเหตุผลที่คนตาบอดยกมาทั้งสิ้น
(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนำมาสอนสั่งล้วนเป็นสัจธรรม
ที่ท้าให้ (คนตาบอด) พิสูจน์ด้วยตนเอง
เพราะคนที่จะเดือดร้อนและต้องทนทุกข์ต่อไป
ก็คือคนตาบอดนั่นเอง
ฉะนั้นเมื่อผู้ที่มีจักษุได้มาบอกกล่าวให้แล้ว
จึงไม่ใช่พระอาทิตย์หรือพระจันทร์เลยที่จะพลาดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความรู้จักกัน
แต่คือคนตาบอดนั่นเองที่จะพลาดโอกาสยิ่งใหญ่ครั้งนี้ไป
(ฉบับการ์ตูน) คนตาบอด คนตาดี ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
เมื่อถึงวันหนึ่งที่แม้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ยังคงมีอยู่
แต่จะไม่มีใครฟังคำสอนของพระพุทธองค์อีกต่อไป
คนตาบอดจะเชื่อน้ำคำของคนตาบอดด้วยกัน
จักไม่เหลือใครฟังคำพูดของมหาบุรุษผู้มีจักษุเป็นเลิศอีกแล้ว
เมื่อนั้นเองจึงเป็นเหตุเสื่อมแห่งคำสอน และเป็นกรรมของคนตาบอดโดยแท้จริง
บทความจากหนังสือ “นิพพานชั่วพริบตา”
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

นิพพานชั่วพริบตา

ท่านสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่
– ร้านนายอินทร์ : http://goo.gl/oSFjEP
– ร้านซีเอ็ด : https://se-ed.com/s/bXrE
– ร้านสวนยินดี : http://suanyindee.lnwshop.com/p/11
– ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
– หรืออ่านได้ในห้องสมุด