มรรคองค์ที่ ๓ สัมมาวาจา การพูดจาชอบ

หนทางแห่งการพ้นทุกข์ อริยมรรคมีองค์ ๘
มรรคองค์ที่ ๓ สัมมาวาจา การพูดจาชอบ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การพูดจาชอบ

ในข้อสัมมาวาจานี้ เมื่อเกิดความเห็นอย่างถูกต้อง ก็จะคิดถูก ดำริถูกในการดำเนินชีวิตในข้อต่างๆ เมื่อดำริว่าไม่เบียดเบียน คำพูดจึงไม่คิดจะเบียดเบียนใคร จึงเป็นเรื่องของศีล ซึ่งจะเหมือนกับในศีลข้อที่ ๔ ของศีล ๕ ที่เราคุ้นเคย ศีลข้อนี้ดูเหมือนง่ายๆ แต่จริงๆ ไม่ง่ายเท่าไหร่นะ เพราะเราไปคิดแค่ว่าไม่พูดคำเท็จเท่านั้น แต่การไม่พูดเท็จนั้น ต้องประกอบด้วยการไม่พูดส่อเสียดด้วย คำว่าพูดส่อเสียดนั้นไม่ใช่พูดเสียดสีอย่างที่เข้าใจนะ พูดส่อเสียดหมายถึงการพูดให้คนแตกแยก หรือพูดไปแล้วสร้างความแตกแยก ดังนั้นในความจริงบางอย่างก็สร้างความแตกแยกได้มาก ต้องชั่งน้ำหนักแยกแยะให้ดีว่าอันไหนเกิดประโยชน์กว่ากัน โดยเจตนานั้นเป็นตัวกรรมนะ ส่วนใหญ่ความหวังดีที่เราพูดนั้น อาจจะยินดีพอใจ สะใจลึกๆ ที่เห็นเขาพินาศก็ได้ ดังนั้นโกหกคนอื่นได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้ ส่วนพูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อก็เข้าใจได้ไม่ยาก การพูดคำหยาบหรือพูดเพ้อเจ้อนั้น ล้วนส่งผลเสียทำให้จิตใจไม่สงบทั้งสิ้น ดังนั้นควรฝึกที่จะละเสีย
เรามาดูสัมมาวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเพื่อว่าเราจะได้ยึดเป็นแนวทาง
“ตถาคตรู้วาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ ตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด เป็นของจริง ของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่ตรัส

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาใด เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ ตถาคตย่อมรู้กาลอันควรที่จะใช้วาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ ตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น

ตถาคตรู้วาจาใด แม้เป็นของจริง เป็นของแท้ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่ตรัส

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาใด แม้เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ทั้งวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของคนอื่นๆ ตถาคตย่อมรู้กาลอันควรที่จะใช้วาจานั้น”

พระอมตะวจนาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ่านอย่างนี้หลายท่านจับทางไม่ได้ มาดูสรุปกันเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ
เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่พระองค์จะตรัสออกมาจะมีเฉพาะข้อ ๓ และ ๖ เท่านั้น ดังนั้นเราลองมาดูความเหมือนและความต่างในข้อ ๓ และ ๖ กัน
ในข้อ ๓ และ ๖ เหมือนกันตรงที่สิ่งที่พระพุทธองค์จะตรัสนั้นต้องจริงและมีประโยชน์ ส่วนเป็นที่ชอบใจหรือเจริญใจผู้ฟังหรือไม่นั้น ท่านจะดูกาละอีกที นั่นสรุปตรงนี้่ง่ายๆ ว่า หากเราเห็นคำว่า “ดูก่อน! ภิกษุทั้งหลาย” “ดูก่อน! อานนท์” “ดูก่อน! สารีบุตร” นั่นแปลว่าคำนั้นมาจากพระโอษฐ์ซึ่งนั่นต้องจริงและมีประโยชน์แน่นอน
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

ภาพและเนื้อหาจากหนังสือ “กลัวเกิดไม่กลัวตาย”
(อ่านแบบ PDF) https://makkanuka.files.wordpress.com/2015/02/gluagerd.pdf
(อ่านแบบ เล่ม) http://suanyindee.lnwshop.com/product/5/กลัวเกิดไม่กลัวตาย
(เสียงอ่านหนังสือ MP3) https://makkanuka.wordpress.com/2015/08/12/gluagerd-pdf-mp3/