ความเข้าใจผิดของนักปฏิบัติธรรม

วันนี้คนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม ไปสำนักไหน ๆ ก็ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิกันทั้งนั้น แล้วคนที่เข้ามาปฏิบัติก็ทำ ๆ กัน ๕ วัน ๗ วัน ๘ วัน ๑๕ วัน แล้วก็กลับบ้านแล้ววันสุดท้ายทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขที่ได้มาปฏิบัติ ได้บุญมาก จากนั้นก็ดำเนินชีวิตเหมือนก่อนที่จะมาเข้าปฏิบัติทุกกระเบียด ทุกคนคงคิดว่าพวกเขาเป็นคนดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้วกระมัง การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเหมือนอาหารเสริมแบบจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ เพราะเราก็ทานข้าวทานผักกันอยู่ทุกวัน
ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ เราทุกคนจึงไม่รู้เหตุของทุกข์ ทุกวันนี้เพราะเราไม่รู้จักทุกข์ เราจึงวิ่งเข้าไปสร้างกันแต่เหตุแห่งทุกข์ แล้ววิ่งโร่มาปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิกัน
ถ้ามีไฟก็มีควันหากวันนี้เราสร้างเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่หลงไหลในกามทั้งหลาย ยังมุ่งร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา หรือใจ ทุกข์ยังคงมี นั่นก็คือมีไฟก็มีควัน ถ้าพอมีควัน(ทุกข์) ก็ฉีด Air Refresher มันจะหายได้อย่างไร ทำไมไม่คิดจะดับไฟ แต่มัวมาจัดการปลายเหตุกันทุกครั้ง
เพราะไม่มีใครรู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ เราจึงวิ่งไปทำที่ผลแก้กันที่ผลเสมอ ไม่มีใครจัดการที่เหตุกันเลย ไม่คิดจะดับไฟ แต่ทุกคนไม่ต้องการให้มีควัน ที่นั่งสมาธิกันก็คือจะมาจัดการให้ควันหาย มันทำผิดทางแล้ว
ถือศีล ละอกุศล ฝึกที่จะมีสติ สัมปชัญญะ ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะเกิดผลเป็นสมาธิ ไม่ใช่ทำสมาธิเพื่อหยุดฟุ้งซ่าน มันไม่ดูแปลก ๆ ไปหน่อยหรือ? จะไปทำได้อย่างไร? เอาพัดมาพัดควัน มันต้องดับเหตุของควันคือจัดการกับควัน วันนี้ทุกคนสับสนกันอย่างหนัก จะใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ แต่จะตัดออกที่ผลคือทุกข์อย่างเดียว
มาปฏิบัติธรรม ๕ วัน ๗ วัน แล้วมานั่งสอบอารมณ์ ถามว่าทำไมนั่งสมาธิไม่สงบ เห็นการเกิดดับใช่แบบนี้ไหม
พูดเล่นพูดจริงกันเนี่ย แกล้งถาม แกล้งโง่ หรือยังไงกัน?
ปฏิบัติธรรมไม่ใช่มา เดินจงกรม นั่งสมาธิ การเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นบทฝึกให้เกิดสติ สัมปชัญญะ เมื่อเกิดความตั้งมั่นจะสามารถพิจารณาเข้าไป เกิดปัญญาเห็นความจริงได้ แต่ในภาพรวมแล้วการปฏิบัติธรรมคือการมาเดินทางให้พ้นไปจากทุกข์
ทุกวันนี้ทุกข์ไหม แล้วละเหตุแห่งทุกข์กันบ้างไหม
เหตุของมันมาจากการทำผิดทางกายก็ศีลข้อ ๑ – ๓ ทำผิดทางวาจา ก็ศีลข้อ ๔ แค่เรื่องศีลนี้ถ้ายังผิดอยู่ ทุกข์จะมีไหม? นี่ถามแบบครูถามนักเรียนหน้าห้องเรียน มีแน่ ๆ แล้วถ้าทำผิดศีลไม่ว่าข้อไหน ๆ แสดงว่าไฟมีแล้วก็ยังลุกโพลง ๆ ควันจะมีไหม? มีแน่ ๆ แล้วมานั่งสมาธิจะสงบไหมเพราะใจมันจะวนเวียนเวียนวนอยู่กับเรื่องที่เราทำผิด อย่างนี้ตอบเองได้ ไม่ต้องไปสอบอารมณ์หรอก พระจะได้เบาแรง
บางคนบอกว่าฉันไม่ได้ผิดศีลแต่แฟนฉันผิดศีลแต่ฉันทุกข์ ลูกของฉันไปทำไม่ดีไม่สมควรฉันก็ทุกข์ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ อันนี้มันเริ่มที่ต้นตอ เราได้ยินกันบ่อยเรื่องยึดมั่นถือมั่น เราก็เลยนึกว่าถ้าไม่ยึดมั่นก็แปลว่างั้นก็ไม่ต้องสนใจหรือ ไม่ใช่ ต่อให้ถอนความยึดมั่นแล้วก็ยังดูแลได้แบบเดิมนั่นล่ะ แต่ไม่ทุกข์ เอาทุกข์ออกอย่างเดียวไม่ได้หยุดการกระทำที่ดีที่ควรทำ
ฟังง่ายทำยากต้องเข้ามาฝึกอย่างถูกต้อง ถ้าอย่างที่พวกเราเข้าใจเขาไม่ได้เรียกปล่อยวาง เขาเรียกปล่อยปละละเลย พอบอกปล่อยวางก็คือการไม่ทำอะไรวางมันเถอะเดี๋ยวทุกข์ ถ้าอย่างนี้ผิดแล้ว เอาง่าย ๆ ได้ลูกหมามาตัวหนึ่ง มันขี้บนเทอเรสหน้าบ้าน หน้าที่เราต้องฝึกหมาให้ขี้ในที่ในทางที่เราต้องการเพื่อให้เป็นระเบียบ พอมันขึ้นมาฉี่มาขี้ที่เทอเรสทำไง ดุ..ตี..จัดการพาไปในที่ที่ควร ถ้าดุแล้วตีเพราะโกรธอย่างนี้ไม่ใช่การฝึกหมาที่ดี แต่คนที่จะเป็นมืออาชีพในการฝึกเขาจะมีบทลงโทษบ้าง บทชมเชยบ้างตามสถานการณ์แต่เขาไม่มีอารมณ์กับมัน แม้ต้องทำซ้ำซากแค่ไหนก็ตามเขาจะรู้ว่านิสัยหมาแต่ละตัวแตกต่างกัน ไม่มีอารมณ์กับหมา เมื่อทำไปอย่างนี้ เดี๋ยวผลก็คือหมาจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด แบบนี้เรียกปล่อยวาง จะเห็นว่าไม่ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์
ถ้าศีลแข็งแรงดีแล้ว ไม่ทำผิดอีกทั้งกาย วาจา แต่ใจยังคงทุกข์อยู่ อย่างนี้ง่ายขึ้นหน่อยล่ะ มาเข้าหมวดจิตสิกขา ศึกษากันเรื่องของจิตของใจกันเพราะความเห็นผิดมี ความยึดมั่นมี ตัณหามี ความทุกข์ก็ยังมี เริ่มจัดการกันที่จิต ทุกข์ก็ลดลงอีกระดับ แต่ยังไม่หมดหรอก
เห็นการเกิด-ดับในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่ว่าเป็นวิปัสสนานั้น มันยังไม่ได้เกิดปัญญาในสัมมาทิฏฐิเลย รู้ ๆ เห็น ๆ จากความตั้งมั่น นั่นยังไม่ขึ้นขั้นตอนการถอดถอนความเห็นผิดเลย จะถึงความเป็นอริยะ คือคนไม่เถื่อน ไม่ใช่มาทำกันจุด ๆ เดียว
พระพุทธเจ้าจึงตรัส พระโสดาบันคือ “ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘” มรรคทั้ง ๘ ข้อพร้อมสมบูรณ์จนกลายเป็นหนึ่งเดียว คือเป็นเส้นทางที่เข้าสู่ใจ ไม่ต้องฝืนทำดีฝืนละชั่ว ทุกอย่างกลายเป็นอัตโนมัติเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ต้องตั้งใจทำด้วยซ้ำ
วันนี้ให้เข้าใจก่อนว่ามาปฏิบัติธรรมแปลว่ามาเดินทางทำให้ทุกข์ลดลง ๆ ไปเรื่อยจนหมดไปดับไปในที่สุด นั่นต้องมาจากการละเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ในวิถีชิวิตประจำวัน มาเข้าคอร์สเพื่อมาศึกษาวิธีการและฝึกปรือให้เกิดความชำนาญ ถ้าทำอย่างนี้เดินทางอย่างนี้ชีวิตจะมีความสุขขึ้นเรื่อย ๆ ทุกข์ก็เห็นไปเรื่อย ๆ ละวางความยึดถือลงได้มากขึ้น ๆ ทุก ๆ วัน ถ้าแบบนี้ยิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งมีความสุข ไม่ใช่มาเครียดกับการไม่มีเวลาเดินจงกรม (ทั้ง ๆ ที่เดินกันวันละไกล ๆ ) ไม่สามารถนั่งสมาธิได้ (นั่งก็หลับ หรือไม่ก็กลายเป็นไปนั่งหลับตาคิดงานต่อหน้าพระ)
ศึกษาให้เข้าใจกันก่อนดีไหม แล้วหนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็คงไม่ยากเกินกว่าใครจะปฏิบัติ
เหตุดับ-ผลดับแน่
จัดการดับเหตุ อย่ามัวไล่แก้ผลเลย มันเหนื่อยเปล่า
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
๑๓ กันยายน ๒๕๕๗